ลูกไม่กินผัก! คุณแม่ต้องรู้...วิธีฝึกลูกกินผัก ไม่ต้องบังคับ เคล็ดลับให้ลูกยอมกินผักได้ไม่ยาก
การฝึกลูกกินผัก ตามหลักแล้วคุณแม่ควรฝึกให้ลูกหัดกินผักตั้งแต่อายุครบ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ลูกสามารถกินอาหารเสริมได้แล้ว และเป็นวัยที่เด็กอยู่ในวัยที่กำลังกินง่าย เวลาป้อนอะไรจะไม่ปฏิเสธ แต่พอลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงวัย 1-3 ปี จะเป็นวัยที่เด็กเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เลยอาจปฏิเสธการกินผักได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะต้องกลับมาฝึกลูกให้กินผักอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง กูร์เมต์ มาร์เก็ต ออนไลน์ มีวิธีฝึกลูกให้กินผักแบบไม่ต้องบังคับมาฝาก มาดูกันว่ามีเคล็ดลับดีๆ อะไรช่วยให้ลูกกินผักได้บ้าง
1.ชวนลูกเข้าครัว รู้จักวัตถุดิบ เป็นเชฟตัวน้อย
ลองชวนลูกเข้าครัวช่วยเตรียมวัตถุดิบทำอาหารด้วยตัวเอง ให้ลูกทำหน้าที่ง่ายๆ เช่น เด็ดผัก ล้างผัก หยิบผักใส่หม้อใส่กระทะ และค่อยๆ สอนให้ลูกรู้จักชื่อผักต่างๆ พร้อมบอกประโยชน์ว่ากินแล้วดียังไง เพื่อให้ลูกค่อยๆ ซึมซับและเปิดใจกับผักชนิดต่างๆ ได้มากขึ้น ส่วนเมนูที่ทำต้องง่าย ไม่ยุ่งยาก เพื่อให้ลูกสามารถสนุกและมีส่วนร่วมในการทำไปด้วยกันกับคุณแม่ได้ ซึ่งการชวนลูกเข้าครัวนอกจากจะช่วยให้ลูกสนุกแล้ว ยังช่วยให้ลูกได้ทำความคุ้นเคยกับผักต่างๆ และทำให้เขาเกิดความรู้สึกภูมิใจในอาหารว่ามีส่วนร่วมในการลงมือทำ และอยากที่จะลองชิมฝีมือตัวเอง
2.ชวนลูกปลูกผักกินเอง
อีกหนึ่งวิธีชวนลูกกินผักแบบง่ายๆ คือชวนลูกปลูกผักกินเอง โดยเลือกเป็นผักสวนครัวที่ปลูกและดูแลง่าย เช่น ผักบุ้ง ถั่วงอก ต้นหอม ผักกาด กะเพรา โดยใช้ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ล่อหลอกให้เด็กเกิดความสนใจที่อยากจะคอยดูและเฝ้าดูผักที่เขาปลูกเองค่อยๆ เติบโต แล้วนำผักที่เขาปลูกเองมาทำอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ลูกรู้สึกตื่นเต้น ภูมิใจ และอยากที่จะกินผักที่เขาปลูกด้วยตัวเอง
3.ทำเมนูซ่อนผัก ตกแต่งให้น่ากิน
วิธีนี้คุณแม่อาจจะต้องใช้สกิลการทำอาหารหน่อย เพราะเมนูผักธรรมดาลูกเห็นแล้วอาจจะยี้ไม่ยอมกิน แนะนำให้ลองดัดแปลงเมนูผักต่างๆ ให้ลูกกินง่ายขึ้น ถ้าลูกยังไม่ยอมกินให้ลองเปลี่ยนผักหรือเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ แนะนำให้เลือกทำเป็นเมนูของทอด เพราะเด็กจะชอบกินของทอดมากกว่าของต้มหรือของผัด โดยเริ่มจากใส่ผักปริมาณน้อยๆ เมื่อลูกกินได้จึงค่อยๆ เพิ่มผักให้มากขึ้นในเมนูต่อไป พร้อมตกแต่งอาหารให้ดูน่ากิน เช่น ทำเป็นรูปตัวการ์ตูนที่ลูกชอบ หรือให้ลูกเลือกจาน ชาม ช้อน ส้อม ด้วยตัวเองเพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมและยอมกินอาหารในจานที่ตัวเองเลือก
4.จับคู่ผักให้ถูก
ลองจับคู่ผักกับเมนูอาหารที่ลูกไม่ชอบกิน เพราะถ้าจับคู่ผักกับอาหารที่ลูกชอบ ลูกจะเลือกกินอาหารที่ตัวเองชอบก่อนเป็นสิ่งแรก แล้วไม่ยอมกินผักต่อ แต่ถ้าลองเปลี่ยนจากอาหารที่ลูกชอบเป็นอาหารที่เขาเฉยๆ หรือไม่ค่อยชอบกิน อาจทำให้ลูกไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของอาหารทั้งสองอย่างในจาน และยอมกินอาหารในจานทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน
5.ลองกินผักรสหวาน
ควรเริ่มให้ลูกกินผักใบเขียวที่มีรสชาติค่อนข้างขมตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยเบบี๋ เพราะถ้าลูกยอมกินผักใบเขียวตั้งแต่เด็กๆ จะช่วยให้ลูกกินผักต่างๆ ได้ง่ายและหลากหลายเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าโตแล้วลูกไม่ยอมกินผักเลย ลองหัดให้ลูกกินผักที่มีรสชาติหวานก่อน เช่น ผักสีส้มหรือผักสีเหลือง อย่างเช่น ข้าวโพด แคร์รอต ฟักทอง ถือเป็นการเริ่มต้นให้ลูกกินผักได้ง่ายขึ้น
6.ทำเป็นเมนูซุปผัก
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ลูกกินผักได้ง่ายขึ้นคือ ทำเมนูซุปผัก เพราะการกินผักสดๆ หรือผักชิ้นเล็กๆ ในจานลูกอาจไม่ยอมกินเพราะคิดว่าสิ่งนี้ไม่อร่อย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเมนูอื่นที่กินง่ายขึ้นอย่างเช่น ซุปผัก อาจทำให้ลูกเกิดความสนใจที่อยากจะลองกินเมนูใหม่ๆ ดู เช่น ซุปฟักทอง ซุปตำลึง ซุปข้าวโพดอ่อน ซุปผักกาดขาว แถมน้ำซุปยังกินง่ายคล่องคอด้วย
เมื่อลูกกินผักได้แล้ว ก็อย่าลืมฝึกลูกน้อยให้กินผลไม้ให้ได้ด้วย พร้อมเสริมด้วยนมและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็กตามช่วงวัย เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารและวิตามินต่างๆ ได้ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ช้อปเลย หลากหลายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กตามช่วงวัยที่ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ออนไลน์